คลื่น แห่งการเปลี่ยนแปลงของโลก
วันที่ 4-5 กรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ผมในฐานะตัวแทนสื่อจากนิตยสาร Go Training ได้ไปร่วมงาน “Thailand Open Memory Championships and Mind Map Festival 2008” ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เทศกาลนี้ถูกจัดเป็น 3 ส่วนพร้อมกัน ส่วนแรกคือการแข่งขันความจำซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเพื่อหาผู้ชนะ เลิศไปแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลกในปลายปีนี้ ส่วนที่สองคือการเปิดตัว Mind Map ที่ยาวที่สุดใน โลกโดยความร่วมมือกันของหน่วยงานหลายแห่งในเมืองไทยเพื่อบันทึกลงใน Guinness World Records และส่วนสุดท้ายเป็นการสัมมนาและจัดประกวด Mind Map (ผู้ที่สนใจใน Mind Map สามารถ ติดต่ออาจารย์ธัญญาหรืออาจารญ์ขวัญฤดี ผลอนันต์ ที่ www.mindmap.in.th ครับ)
ผู้ที่กล่าว Keynote เพื่อเปิดสัมมนา Mind Map คือ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นักวิชาการและนักคิดระดับชาติ อาจารย์เกรียงศักดิ์ได้กล่าวปาฐกในเรื่อง “คลื่น แห่งการเปลี่ยนของโลก” โดยต่อยอดแนวคิดของ Alvin Tofler (นักอนาคตวิทยาและผู้เขียนหนังสือ The Third Wave) โดยผมขออนุญาตเขียนสรุปใจความของคลื่นลูกต่างๆ ตามที่อาจารย์เกรียงศักดิ์ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ให้เพื่อนๆ ลองอ่านดังต่อไปนี้ครับ
คลื่น ลูกที่ 1 “สังคมเกษตรกรรม” ปัจจัยแห่งยุคคือที่ดิน ผู้นำทางสังคมหรือผู้นำแห่งยุคคือจอมพล ผู้กุมอำนาจทหารเพื่อปกป้องปัจจัย และหาปัจจัยใหม่ให้สังคมของตน ยุคนี้เป็นยุคที่พ่อค้าวานิช จะหลบซ่อนอยู่หลังทหาร
คลื่นลูกที่ 2 “สังคมอุตสาหกรรม” ปัจจัยแห่งยุคคือทุน เครื่องมือแห่งยุคได้แก่เครื่องจักร เครื่องกลต่างๆ หลังจากที่มีการคิดค้นสร้างเครื่องจักรไอน้ำ โลกเราก็เข้าสู่สังคมอุตสาหกรรม มีการสร้างถนน และสาธารณูปโภคต่างๆ การเดินทางไปมาหาสู่กันของคนมีมากขึ้นเนื่องจากการคมนาคมสะดวกขี้น ภาษาท้องถิ่นเริ่มมีบทบาทน้อยลง ในขณะที่ผู้คนหันมาเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาสากล เพื่อง่ายและมีประสิทธิผลในสื่อสารระหว่างกันมากขึ้น ยุคนี้เป็นยุคที่ทหารจะซ่อนอยู่หลังนายทุน พ่อค้า นักธุรกิจ
คลื่น ลูกที่ 3 “สังคมแห่งข้อมูล” ปัจจัยแห่งยุคคือข้อมูล เครื่องมือแห่งยุคือ IT สิ่งต่างๆ ในยุคนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่เข้าถึงข้อมูลก่อนจะได้เปรียบในการแข่งขัน ตัวอย่างง่ายๆ เช่นใครที่รู้ก่อนว่าถนนจะตัดไปทางไหน ก็จะไปกว้านซื้อที่ดินแถบนั้นเพื่อเก็งกำไร ซึ่งผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนทำธุรกิจแบบดั้งเดิมหลายเท่าตัวเสียอีก หรือ การที่ Microsoft เติบโตแซงหน้า GE และ บริษัทรถยนต์เครื่องจักรยักษ์ใหญ่ในเวลาเพียงไม่กี่ปี เป็นต้น
คลื่นลูกที่ 4 “สังคมแห่งองค์ความรู้” ปัจจัยแห่งยุคคือความรู้ เครื่องมือแห่งยุคคือศาสตร์แขนงต่างๆ เช่น nanotechnology, biotechnology, pharmaceutical เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพได้ชัดเจน อาจารย์เกรียงศักดิ์ได้ยกตัวอย่างว่าปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีประชากรเพียง 1% เท่านั้นที่เป็นสังคมของคลื่นลูกที่ 1 ประชากรถึง 70% นั้นอยู่ในคลื่นลูกที่ 4 และประชากรส่วนที่เหลืออยู่ในสังคมคลื่นลูกที่ 2 และ 3
คลื่นลูกที่ 5 “สังคมแห่งปัญญา” หรือที่อาจารย์เกรียงศักดิ์เรียกว่า “ปราชญสังคม” เป็นยุคของนักคิด การบูรณาการความรู้และใช้ปัญญาเพื่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ สังคมใดสามารถพาตนสู่การเป็นปราชญสังคมได้สำเร็จ สังคมนั้นจะอยู่ต้นแถวของโลก
อาจารย์เกรียงศักดิ์พูดถึงคลื่น ลูกที่ 5 ไว้เพียงเท่านี้ ทิ้งให้ผมและผู้ฟังในวันนั้นต้องอารมณ์ค้างไปค้นคว้าหาอ่านต่อในหนังสือ “คลื่นลูกที่ 5 ปราชญสังคม” ผม ไม่ได้ค่าโฆษณาขายหนังสือนะครับ แต่ยังไงก็จะไปหาหนังสือเล่มนี้มาอ่าน แล้วจะมาเขียนให้เพื่อนๆ อ่านอีกทีว่าคลื่นลูกที่ 5 นี้เป็นอย่างไร....สวัสดีครับ
โดย SutinTan
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น